วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาในด้านการตรวจสอบภายในท้องถิ่น


1. ขอให้กระทรวงมหาดไทย ผลักดันการแก้ไขมาตรฐานกำหนดตำแหน่งให้สอดคล้องกับระเบียบมท.และระเบียบคตง.ว่าด้วยผู้ตรวจสอบภายในฯ เพราะปัจจุบัน ผู้ตรวจสอบภายใน ทำงานไม่ได้เต็มที ซึ่งเป็นนัยจากมาตรฐานการกำหนดตำแหน่ง มูลเหตุระบุว่ามีงานที่รับมอบหมายด้วย (ทั้งนี้ หากจะเป็นงานที่ได้รับมอบหมายนั้น ขอให้ระบุเป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติท้ายระเบียบคตง.ว่าด้วยผู้ตรวจสอบภายใน พ.ศ.2546 คือ ให้เป็นได้เพียงแค่ให้คำปรึกษาเท่านั้น) แต่ข้อเท็จจริงแล้ว ปัจจุบันผู้ตรวจสอบภายในของท้องถิ่น ได้รับมอบหมายเป็นกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง หรือมอบหมายทำหน้าทีอื่นเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับงานที่ได้รับมอบหมาย เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ตนจะต้องเข้าตรวจสอบ จึงทำให้ขาดความเป็นกลาง หรือขัดกับมาตรฐานของผู้ตรวจสอบภายใน ท้ายระเบียบคตง.กำหนดไว้ คือ ให้ผู้ตรวจสอบภายในเป็นอิสระ ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่จะตรวจ กรณีการไปทำงานด้านอื่นๆ หรือรักษาการในงานอื่นนั้น ทำให้ผู้ตรวจสอบภายในไม่มีผลงานหลักในหน้าที่งานประจำฯ

2. ขอให้กระทรวงมหาดไทย หรือผู้กำกับดูแล กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น หรือ กองตรวจสอบระบบการเงินบัญชีท้องถิ่น หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแล สายงานตรวจสอบภายในท้องถิ่น ได้โปรดส่งเสริมพัฒนาความรู้ ให้กับผู้ดำรงตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในท้องถิ่น อย่างต่อเนื่องและเป็นประจำด้วย เพราะการที่จะเข้าตรวจสอบหน่วยรับตรวจ (สำนัก/กอง)นั้น ผู้ตรวจสอบจะต้องมีความรู้ทักษะมากพอ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาด้วยตนเอง หรือศึกษาจากท่านผู้รู้ แต่ที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ การได้รับการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องให้ทันต่อระเบียบ กฎหมาย หนังสือสั่งการ และภารกิจถ่ายโอน (ปัจจุบันกองตรวจสอบระบบการเงินบัญชีท้องถิ่นจัดปีละ 1 ครั้ง บางครั้งก็ไม่ได้จัด โดยภาพรวมถือว่า การส่งเสริมเพื่อให้ความรู้ยังน้อยมาก จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้ตรวจสอบภายในท้องถิ่นต้องสร้างเครือข่าย (ชมรมฯ) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน

3. ขอให้กระทรวงมหาดไทย พิจารณาปรับขยายระดับตำแหน่งเดิมที่กำหนดไว้สูงสุด 7 ว ให้เป็นเทียบเท่า ระดับตำแหน่งหน่วยรับตรวจ กล่าวคือ หน่วยรับตรวจ (สำนัก/กอง) อยู่ในระดับใด ผู้ตรวจสอบภายในต้องอยู่ระดับนั้นหรือเอย่างน้อยเทียบเท่า (เช่น ผอ.ระดับ 8, 9 = หัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายใน ต้องระดับ 8 ว, 9 ว เป็นต้น)เพื่อให้เป็นไปตาม แนวทางปฏิบัติที่ 3 แนบท้ายระเบียบคตง.ฯว่าด้วยผู้ตรวจสอบภายใน พ.ศ.2546 ได้ระบุไว้ว่าผู้ตรวจสอบภายในต้องมีศักยภาพสูงพอที่จะสามารถตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง สถิติที่ผ่านมา หากผู้ตรวจสอบภายในเป็น 6 ว ,7 ว จะมีแนวโน้มเปลี่ยนสายงาน ไปสอบสายบริหารมากขึ้น เพราะไม่ก้าวหน้า

4. หากกรณีในอนาคต เมื่อได้มีการพัฒนาความรู้ และยกระดับความสามารถของผู้ตรวจสอบภายในให้เป็นไปตามมาตรฐานของคตง.และกรมบัญชีกลางแล้ว ขอให้กระทรวงมหาดไทย(ผู้กำกับดูแล)ควรยกระดับ ให้มีการพิจารณาเป็นสายวิชาชีพ (วช.)เนื่องจากตำแหน่งตรวจสอบภายใน เป็นลักษณะงานที่ต้องรอบรู้ และเชี่ยวชาญในทุกด้าน ตั้งแต่ตรวจสอบเรื่องการจัดทำแผนพัฒนา เรื่องการจัดทำงบประมาณ เรื่องการจัดเก็บรายได้ การจัดทำแผนที่และทะเบียนทรัพย์สิน การเร่งรัดลูกหนี้ภาษี เรื่องการเบิกจ่าย เรื่องการพัสดุ เรื่องการบันทึกบัญชี รายงานงบการเงิน ปัจจุบันท้องถิ่นได้รับภารกิจถ่ายโอนจำนวนมาก เช่น โรงเรียน สถานีขนส่ง สถานีอนามัย รวมทั้งหน่วยรับตรวจได้นำระบบสารสนเทศคอมพิวเตอร์มาใช้ จึงทำให้หน่วยตรวจสอบภายในต้องได้รับความรู้เพื่อที่จะเข้าตรวจสอบ ตลอดจนจะต้องตรวจสอบผลของการดำเนินงานโครงการต่างๆ ว่ามีความคุ้มค่า คุ้มประโยชน์ โดยประหยัด หรือไม่ , มีหน้าที่ประเมินระบบควบคุมภายในองค์กร (ประจำทุกปี),บางกรณี ได้ร่วมเป็นกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด , กรรมการสอบสวนวินัย จึงถือว่าทำงานหลายด้าน และต้องมีศักยภาพการทำงานสูง ภายใต้แรงกัดดันรอบด้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น